ประวัติศาสนจักร
เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์


“เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์” หัวข้อประวัติศาสนจักร

“เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์”

เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์

เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ (ประมาณปี 1822–1908) เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนบุตรไม่ต่ำกว่าห้าคนที่เกิดจากคู่สามีภรรยาชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่เป็นไทในคอนเนตทิคัตในช่วงเวลาที่คนผิวดำส่วนใหญ่เป็นทาสในสหรัฐอเมริกา1 สมัยเป็นสาว เธอเข้าร่วมคริสตจักรประชาคมคานาอันใหม่ในปี 1841 แต่ 18 เดือนต่อมาในฤดูหนาวปี 1842–1843 เธอและสมาชิกครอบครัวอีกหลายคนรับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ต่อมาไม่นานเจนและคนอื่นๆ ในครอบครัวปรารถนาจะไปร่วมกับวิสุทธิชนในนอวู พวกเขาจึงออกเดินทางจากคอนเนตทิคัตไปนิวยอร์ก โดยวางแผนเดินทางด้วยเรือกลไฟและเรือสำหรับแล่นในคลอง อย่างไรก็ตาม พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเรือเพราะเชื้อชาติของตน ดังนั้นจึงต้องเดินไปอีก 1,287 กิโลเมตรที่เหลือ ในพีโอเรีย อิลลินอยส์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสงสัยว่าครอบครัวแมนนิงก์เป็นทาสที่อาจหลบหนีออกมาและเรียกร้องเอกสารเพื่อพิสูจน์สถานะความเป็นไทของพวกเขา การเหยียดเชื้อชาติเป็นอุปสรรคที่เจนจะเผชิญตลอดชีวิตของเธอ

ภาพ
ภาพถ่ายของเจน แมนนิงก์ เจมส์

ภาพถ่ายของเจน แมนนิงก์ เจมส์

เอื้อเฟื้อโดย หอจดหมายเหตุและหอสมุดประวัติศาสนจักร

เมื่ออยู่ในนอวู เจนพัฒนาสัมพันธภาพอย่างรวดเร็วกับโจเซฟและเอ็มมา สมิธ เธออาศัยและทำงานในบ้านของพวกเขา มีช่วงหนึ่งเอ็มมาได้เชื้อเชิญให้เจนเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวสมิธโดยการผนึกของฐานะปุโรหิต2 เจนปฏิเสธเพราะเข้าใจผิดต่อการปฏิบัติแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคย แต่เธอเชื่อมั่นในบทบาทการเป็นศาสดาพยากรณ์ของโจเซฟ “ดิฉันรู้จักท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟจริงๆ” เธอเป็นพยานในภายหลัง “ท่านเป็นชายที่ดีที่สุดที่ดิฉันเคยเห็นมาบนแผ่นดินโลก … ดิฉันมั่นใจว่าท่านเป็นศาสดาพยากรณ์เพราะดิฉันรู้”3

โดยสนทนากับโจเซฟและลูซี แมค สมิธมารดาของท่าน เจนเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนและการแปล ตลอดจนเริ่มเข้าใจและเคารพศาสนพิธีพระวิหาร

เจนแต่งงานกับไอแซค เจมส์ ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวผิวดำที่เป็นไทจากนิวเจอร์ซี พวกเขาพร้อมด้วยซิลเวสเตอร์บุตรชายของเจน ออกจากนอวูในปี 1846 เพื่อมุ่งหน้าไปทางตะวันตกกับวิสุทธิชน ในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกันนั้น ไซลาสบุตรชายของเจนกับไอแซคเกิด ปีต่อมาครอบครัวนี้ข้ามทุ่งราบมาถึงหุบเขาซอลท์เลคในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1847 ไอแซคกับเจนมีบุตรด้วยกันเพิ่มอีกหกคน มีเพียงสองคนเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่นานกว่าเจน เช่นเดียวกับผู้ตั้งถิ่นฐานยุคแรกในหุบเขาซอลท์เลค เจนกับไอแซคทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวของตน ไอแซคทำงานเป็นกรรมกรและคนขับรถม้าให้กับบริคัม ยังก์เป็นครั้งคราว ส่วนเจนทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า และซักรีดเสื้อผ้าเหมือนที่เธอเคยทำในนอวู

ความตึงเครียดในชีวิตสมรสทำให้ไอแซคกับเจนหย่าร้างกันในปี 1870 ต่อมาเจนมีชีวิตสมรสระยะสั้นสองปีกับแฟรงค์ เพอร์คินส์ผู้เคยเป็นทาส แต่ไม่นานก็กลับมาใช้ชีวิตเป็นมารดาและคุณย่าคุณยายตัวคนเดียวอีกครั้ง ความต้องการทางการเงินและการสิ้นชีวิตของบุตรสามคนเป็นเหตุให้เจนต้องกลับไปทำงาน เธอทำซุปขาย ในขณะที่บุตรชายสองคนของเธอรับจ้างเป็นกรรมกร ในปี 1890 หลังจากหายไป 20 ปี ไอแซคกลับมาซอลท์เลคซิตี้และเป็นสมาชิกในศาสนจักรอีกครั้ง และสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเจน เมื่อเขาสิ้นชีวิตในหนึ่งปีต่อมา พิธีศพจัดขึ้นในบ้านของเธอ

ตลอดชีวิตที่ยากลำบาก เจนยังคงยึดมั่นในศรัทธาที่มีต่อคำสอนพระกิตติคุณและให้ความสำคัญกับการเป็นสมาชิกในศาสนจักร เธอบริจาคเงินให้กับการก่อสร้างพระวิหารและมีส่วนร่วมในสมาคมสงเคราะห์และสมาคมอดออมของสตรี4 เจนมีประสบการณ์มากมายกับของประทานแห่งพระวิญญาณ รวมถึงนิมิต ความฝัน การรักษาโดยศรัทธา และการพูดภาษา “ศรัทธาของดิฉันในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” เธอเขียนในชีวิตของเธอภายหลัง “เข้มแข็งในวันนี้ ไม่ใช่สิ น่าจะเข้มแข็งกว่าวันที่ดิฉันรับบัพติศมาในตอนแรก”5

ระหว่างปี 1884 และปี 1904 เจนติดต่อกับผู้นำศาสนจักรเป็นระยะๆ—จอห์น เทย์เลอร์, วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, ซีนา ดี. เอช. ยังก์, และโจเซฟ เอฟ. สมิธ—และขออนุญาตรับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารและการผนึก6 ในเวลานั้น ชายหญิงวิสุทธิชนชาวผิวดำไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหารส่วนใหญ่ ในปี 1888 ประธานสเตคชื่อแองกัส เอ็ม. แคนนอนอนุมัติให้เจนประกอบพิธีบัพติศมาให้ญาติผู้วายชนม์ของเธอ7 ในที่สุดผู้นำศาสนจักรอนุญาตให้เธอได้รับการผนึกโดยตัวแทนเข้าสู่ครอบครัวโจเซฟ สมิธในฐานะผู้รับใช้ในปี 1894 ซึ่งเป็นเหตุการณ์พิเศษ แม้เธอจะไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารหรือการผนึกกับครอบครัวในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่มีผู้ประกอบศาสนพิธีเหล่านี้แทนเธอในปี 19798

เธอสิ้นชีวิตในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1908 โดยมีอายุได้ 95 ปี เธอเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์เสมอมา Deseret News รายงานว่า “มีเพียงไม่กี่คนที่มีชื่อเสียงในเรื่องศรัทธาและความซื่อสัตย์มากกว่าเจน แมนนิงก์ เจมส์ และแม้มาจากแผ่นดินที่ต่ำต้อย แต่หลายร้อยคนนับเธอเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย”9

อ้างอิง

  1. มารดาของเจนถูกกดขี่เป็นทาสและได้รับการปลดปล่อยโดยกฎหมายเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไปของคอนเนตทิคัต เจนเกิดมาเป็นไท แต่ระบบทาสเป็นสิ่งถูกกฎหมายในรัฐจนกระทั่งหลังจากที่เจนจากไป เกี่ยวกับชีวิตโดยรวมของเจน ดู Henry J. Wolfinger, “A Test of Faith: Jane Elizabeth Manning James and the Origins of the Utah Black Community,” ใน Clark Knowlton, ed., Social Accommodation in Utah (Salt Lake City: University of Utah, 1975), 126–175 และQuincy D. Newell, “The Autobiography and Interview of Jane Elizabeth Manning James,” Journal of Africana Religions, vol. 1, no. 2 (2013), 251–291.

  2. จดหมายที่ซีนา ดี. เอช. ยังก์เขียนถึงโจเซฟ เอฟ. สมิธ, 15 ม.ค. 1894, หอสมุดประวัติศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้.

  3. “‘Aunt’ Jane James,” ใน “Joseph Smith, the Prophet,” Young Woman’s Journal, vol. 16, no. 12 (Dec. 1905), 551, 553.

  4. Eighth Ward Relief Society Minutes and Records, 1867–1969, Eighth Ward, Liberty Stake, Aug. 20, 1874; Oct. 20, 1874; Dec. 21, 1874; Jan. 20, 1875; Mar. 22, 1875; May 20, 1875; Nov. 20, 1875, vol. 1, หอสมุดประวัติศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้ [เจนใช้นามสกุลเพอร์คินส์ในช่วงเวลาสั้นๆ]; “Ladies Semi-monthly Meeting,” Woman’s Exponent, vol. 22, no. 9 (Dec. 1, 1893), 66. เจนบริจาคเงินทุนให้การก่อสร้างพระวิหารเซนต์จอร์จ พระวิหารโลแกน และพระวิหารแมนไท และให้การสนับสนุนแก่คณะเผยแผ่ชาวเลมัน (อินเดียน) ดู ลินดา คิง นูเวลล์และวัลลีน ทิปเพ็ทส์ เอเวอรีย์, “Jane Manning James,” Ensign, Aug. 1979, 29.

  5. อัตชีวประวัติของเจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์, ประมาณปี 1902, จดตามคำบอกโดยเอลิซาเบธ เจ. ดี. ราวน์ดี, หอสมุดประวัติศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้, 22.

  6. จดหมายที่เจน อี. เจมส์เขียนถึงจอห์น เทย์เลอร์, 27 ธ.ค. 1884; จดหมายที่เจน อี. เจมส์เขียนถึงโจเซฟ เอฟ. สมิธ, 7 ก.พ. 1890; จดหมายที่เจน อี. เจมส์เขียนถึงโจเซฟ เอฟ. สมิธ, 31 ส.ค. 1903.

  7. จดหมายที่แองกัส เอ็ม. แคนนอนเขียนถึงเจน อี. เจมส์, 16 มิถุนายน ค.ศ. 1888; ดู Tonya Reiter, “Black Saviors on Mount Zion: Proxy Baptisms and Latter-day Saints of African Descent,” Journal of Mormon History, vol. 43, no. 4 (Oct. 2017), 100–123 ด้วย.

  8. อัตชีวประวัติของเจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์, ประมาณปี 1902. เจนเป็นผู้บอกจดอัตชีวประวัติของเธอในซอลท์เลคซิตี้ในช่วงปี 1902 และปี 1908; Ronald G. Coleman and Darius A. Gray, “Two Perspectives: The Religious Hopes of ‘Worthy’ African American Latter-day Saints before the 1978 Revelation,” ใน Newell G. Bringhurst and Darron T. Smith, eds., Black and Mormon (Urbana: University of Illinois Press, 2004), 54. ดู Quincy D. Newell, “The Autobiography and Interview of Jane Manning James,” Journal of Africana Religions, vol. 1, no. 2 (2013), 256, 275 (note 34) ด้วย.

  9. “Death of Jane Manning James,” Deseret News, Apr. 16, 1908.